Copyright 2024 - สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

     ในช่วงไม่สบายร่างกายจะมีการสร้างนํ้าตาลเพิ่มขึ้น มีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำนํ้าตาลไปใช้ได้ ระดับนํ้าตาลในเลือดจึงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายนํ้า ปากคอแห้ง อ่อนเพลีย นํ้าหนักลดลง ในขณะนั้นหากผู้เป็นเบาหวานดื่มนํ้าน้อย นํ้าตาลที่สูงจะยิ่งทำให้เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น เปรียบเสมือนนํ้าเชื่อมเข้มข้นนั่นเอง ส่งผลกระทบถึงสมองทำให้ซึม หรือชักได้

     การเตรียมตัวก่อนเจ็บป่วย

ควรมีการปรึกษาและวางแผนกับแพทย์เกี่ยวกับการปฏิบัติตนหากเจ็บป่วยตั้งแต่ทราบว่าเป็นเบาหวาน และหลังจากนั้นควรทบทวนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันภาวะนํ้าตาลสูงฉุกเฉินหรือนํ้าตาลต่ำรุนแรง ผู้เป็นเบาหวานควรวางแผนเกี่ยวกับยาเบาหวาน การปรับยาอินซูลิน วางแผนเตรียมอาหารอ่อน อาหารเหลว หรือผงเกลือแร่ ในกรณีที่ไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ เตรียมยาสามัญประจำบ้าน อุปกรณ์วัดไข้ เครื่องมือในการตรวจนํ้าตาลปลายนิ้ว แถบตรวจคีโตนในเลือดหรือปัสสาวะ บันทึกเบอร์โทรศัพท์ญาติ บุคลากรโรงพยาบาลและรถพยาบาลในกรณีต้องการความช่วยเหลือ...

 

การปฏิบัติตนเมื่อเจ็บป่วย

 

1. พยายามรับประทานอาหารตามมื้อปกติ หากไม่สามารถกินอาหารมื้อหลักได้ ให้กินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น นํ้าผลไม้ ไอศกรีม ขนม โยเกิร์ต หรือนํ้าซุป เป็นต้น ทุก 3-4 ชั่วโมง

 

2. ดื่มนํ้าให้เพียงพออย่างน้อย 1 แก้วทุก 1 ชั่วโมง หากท้องเสียควรดื่มนํ้าเกลือแร่ นํ้าแกงหรือซุปใส เพื่อป้องกันความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด นอกจากนี้ควรชั่งนํ้าหนักตัวและประเมินปริมาณปัสสาวะ หากนํ้าหนักตัวลดลงร่วมกับปริมาณปัสสาวะมาก แสดงว่าอยู่ในภาวะขาดนํ้า ต้องดื่มนํ้าหรือเกลือแร่เพิ่มขึ้น (สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจวาย นํ้าท่วมปอดหรือโรคไตที่แพทย์จำกัดนํ้า ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณนํ้าที่เหมาะสม)

 

3. ควรตรวจระดับนํ้าตาลปลายนิ้วและตรวจคีโตนในเลือดหรือปัสสาวะ โดยมีแนวทางดังนี้

 

3.1 ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ควรตรวจระดับนํ้าตาลอย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง

 

3.2 ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ให้ตรวจระดับนํ้าตาลปลายนิ้วอย่างน้อยทุก 2-4 ชั่วโมงตลอดทั้งวัน และตรวจคีโตนในเลือดหรือปัสสาวะเป็นระยะ

 

3.3 หากมีอาการนํ้าตาลต่ำ หรือตรวจพบนํ้าตาลน้อยกว่าหรือเท่ากับ 70 มก./ดล. ให้ปฏิบัติดังนี้

 

3.3.1 หากอาการไม่มากให้กินคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม เช่น ลูกอมแบบมีนํ้าตาล 3 เม็ด นํ้าส้มคั้น 180 มล. นํ้าอัดลม 180 มล. นํ้าผึ้ง 3 ช้อนชา ขนมปังปอนด์ 1 แผ่น นมสด 1 แก้ว ข้าวต้มหรือโจ๊กครึ่งถ้วย เป็นต้น และติดตามระดับนํ้าตาลปลายนิ้วที่ 15 นาที หาก นํ้าตาลยังคงน้อยกว่า 70 มก./ดล. ให้กินอาหารดังข้างต้นซํ้า หากอาการดีขึ้นและนํ้าตาลมากกว่า 80 มก./ดล. ให้กินอาหารตามปกติ

 

3.3.2 หากอาการรุนแรงจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ให้ผู้เห็นเหตุการณ์รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ช่วงรอการนำส่งโรงพยาบาลให้นำนํ้าหวานเข้มข้น หรือนํ้าผึ้งป้ายที่กระพุ้งแก้มข้างที่นอนตะแคง ห้ามกรอกนํ้าหวานเนื่องจากอาจสำลักได้

 

3.3.3 ผู้ที่ฉีดอินซูลินอาจต้องปรับยาลดลงจากเดิม

 

4. ผู้ที่ฉีดอินซูลินห้ามหยุดยา และให้ปรับยาตามระดับนํ้าตาลตามที่แพทย์แนะนำ

 

5. ไม่ควรหยุดยาที่ใช้ประจำ ในกรณีที่เจ็บป่วยรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้หยุดยาเบาหวานบางชนิด ได้แก่

 

5.1 เมทฟอร์มิน (metformin) เนื่องจากในผู้เป็นเบาหวานบางรายอาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือเลือดเป็นกรด

 

5.2 ยาเบาหวานที่ออกฤทธิ์โดยเพิ่มการขับนํ้าตาลทางปัสสาวะที่เรียกว่ากลุ่ม SGLT-2 inhibitor เนื่องจากทำให้เสี่ยงต่อภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนโดยที่ระดับนํ้าตาลในเลือดไม่สูงมาก (euglycemic diabetic ketoacidosis)

 

ทั้งนี้ผู้เป็นเบาหวานต้องปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดยา

 

6. ควรพบแพทย์เพื่อรักษาต้นเหตุของความเจ็บป่วย รายละเอียดที่ควรเตรียมเพื่อแจ้งแพทย์ เช่น อาการที่ผิดปกติ ยาที่รับประทานทั้งหมดทั้งยาประจำและยาที่ใช้ช่วงไม่สบาย ไข้หรืออุณหภูมิที่วัดเองที่บ้าน ระดับนํ้าตาลในเลือดและผลการตรวจคีโตน เป็นต้น

 

7. พบแพทย์หรือปรึกษาทีมเบาหวานทันทีที่เจ็บป่วยร่วมกับข้อหนึ่งข้อใดต่อไปนี้

 

7.1 ระดับนํ้าตาลมากกว่า 250 มก./ดล.ติดต่อกันอย่างน้อย 12 ชั่วโมง

 

7.2 ตรวจพบคีโตนในปัสสาวะระดับปานกลางถึงมาก หรือคีโตนในเลือดมากกว่า 1.5 มิลลิโมล/ลิตร

 

7.3 มีอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะนํ้าตาลในเลือดสูงฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ได้แก่ อาเจียน ง่วง ซึม สับสน หอบเหนื่อย ปวดท้อง เป็นต้น

 

7.4 รู้สึกไม่สบายมาก อ่อนเพลีย ไม่สามารถกินได้ ไม่สามารถให้การดูแลตนเอง หรือไม่มีคนดูแล

 

7.5 นํ้าตาลต่ำรุนแรง

 

7.6 อายุน้อยกว่า 2 ขวบ หรือผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

 

     ความเจ็บป่วยถึงแม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันและเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ แต่ความเจ็บป่วยบางอย่างเราสามารถป้องกันได้โดยวิธีง่าย ๆ เช่น ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดเหล้าและบุหรี่ การได้รับวัคซีนตามคำแนะนำของแพทย์ การกินยาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น ส่วนการ เตรียมพร้อมวางแผนรับมือกับความเจ็บป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญในผู้เป็นเบาหวาน เพื่อที่จะผ่านเหตุการณ์เจ็บป่วยไปได้อย่างราบรื่น ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เป็นเบาหวาน ญาติ ผู้ดูแล แพทย์และบุคลากรการแพทย์ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย

 

ข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงทิพาพร ธาระวานิช สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ....อ่านต่อที่ :https://www.dailynews.co.th/article/680198

f t g m

ภาคี

 

                       

   

 

ค้นหา