Copyright 2024 - สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ข้อบังคับสมาคม

  

หมวด ๑
ชื่อตราและที่ตั้งสำนักงาน

ข้อ ๑. สมาคมนี้ชื่อ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้ชื่อย่อ สบท ซึ่งภาษาอังกฤษใช้ Diabetes Association of Thailand under The Patronage of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn และชื่อใช้ย่อว่า D A T

ข้อ ๒ตราของสมาคมเป็นรูปงูสองตัวพันคบเพลิงมีปีกสองปีกมีตาชั่งแขวนอยู่ที่ปลายปีกทั้งสองข้าง อยู่ภายในวงกลมขอบข้างบนภายในมีอักษรว่า สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ข้างล่างมีอักษรว่า ๒๕๐๘ และมีคำว่า 1965 Diabetes Association of Thailand อยู่ภายในวงกลมขอบด้านล่าง และส่วนของฐานวงกลมมีอักษรภาษาไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อยู่เหนืออักษรภาษาอังกฤษ Under The Patronage of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn ดังรูปภาพ ด้านล่าง

ข้อ ๓. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ที่ อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ชั้น ๑๐ โซน A เลขที่ ๒ ซอยเพชรบุรี ๔๗ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ๑๐๓๑๐

 

หมวด ๒
วัตถุประสงค์

ข้อ ๔. สมาคมมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้.-

1.      เพื่อรวบรวมผู้ที่สนใจในเรื่องโรคเบาหวานเข้าเป็นกลุ่มก้อน

2.      เพื่อให้ความรู้โรคเบาหวานแก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน

3.      เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และปรึกษาหารือกันในปัญหาต่าง ๆ ของโรคเบาหวานระหว่างแพทย์และสมาชิกด้วยกัน

4.      เพื่อเป็นศูนย์กลางจัดรวบรวมบทความที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโรคเบาหวานทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

5.      เพื่อช่วยเหลือแนะนำให้ความรู้หรือคำบรรยายแก่ผู้ป่วยและประชาชนในเรื่องโรคเบาหวาน

6.      เพื่อให้การสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน รวมทั้งช่วยส่งเสริมการวิเคราะห์หรือวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับโรคนี้

7.      เพื่อติดต่อประสานงานกับสมาคมโรคเบาหวานของต่างประเทศ

8.      เพื่อช่วยเหลือเรื่องการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานตามสมควร

 

หมวด ๓
ประเภทสมาชิกและการสมัครเข้าเป็นสมาชิก

ข้อ ๕. สมาคมมีสมาชิก ๓ ประเภท คือ

1.      สมาชิกสามัญ

2.      สมาชิกตลอดชีพ

3.      สมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ ๖. สมาชิกสามัญและสมาชิกตลอดชีพนั้น ได้แก่บุคคลผู้มีความคิดเห็นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์แห่งสมาคม และสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามระเบียบและข้อบังคับของสมาคม ส่วนสมาชิกกิตติมศักดิ์นั้นได้แก่ผู้ทรงวิทยาคุณหรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการลงมติให้เชิญเป็นสมาชิกเพื่อเป็นเกียรติแก่สมาคม

ข้อ ๗. ผู้ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกตลอดชีพ ให้ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการของสมาคม โดยมีสมาชิกรับรอง ๒ คน พร้อมกับชำระค่าบำรุงตามระเบียบของสมาคม

ข้อ ๘. เมื่อถึงคราวประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ให้นายทะเบียนนำรายชื่อผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่เสนอต่อที่ประชุมพิจารณา เมื่อคณะกรรมการลงมติรับผู้นั้นเป็นสมาชิกแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ หากคณะกรรมการลงมติว่าบุคคลนั้นไม่สมควรเป็นสมาชิกของสมาคมด้วยเหตุใดก็ตาม ให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้นั้นทราบพร้อมกับคืนเงินค่าบำรุงให้ด้วย ภายใน ๗ วัน

 

หมวด ๔
ค่าบำรุง

ข้อ ๙. ค่าบำรุงสมาชิกนั้น ให้ชำระดังนี้.-

1.      สมาชิกสามัญ ชำระค่าบำรุงเป็นรายปี ปีละ ๓๐๐.๐๐ บาท และถ้าต้องการต่ออายุสมาชิกให้ชำระไม่เกิน ๑ เดือน หลังวันหมดอายุสมาชิก

2.      สมาชิกตลอดชีพ ชำระค่าบำรุงครั้งเดียว ,๐๐๐.๐๐ บาท

 

หมวด ๕
สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ ๑๐. สมาชิกมีสิทธิ์ที่จะเสนอความเห็นเกี่ยวกับกิจการทั้งหลายของสมาคมต่อคณะกรรมการอำนวยการ หรือต่อที่ประชุมใหญ่

ข้อ ๑๑. สมาชิกมีสิทธิ์ไต่ถามหรือขออนุญาตต่อคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อตรวจดูเอกสารทะเบียนสมาชิก บัญชี หรือทรัพย์สินของสมาคม ณ สำนักงานสมาคมได้ในเวลาอันสมควร

ข้อ ๑๒. สมาชิกมีสิทธิ์เข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ทั้งสามัญหรือวิสามัญและการประชุมวิชาการตามเงื่อนไข

ข้อ ๑๓. สมาชิกมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ของสมาคม และตามที่ได้มีระเบียบวางไว้เพื่อการนั้น

ข้อ ๑๔. สมาชิกมีหน้าที่จะต้องแจ้งให้สมาคมทราบในกรณีที่ตนเปลี่ยนชื่อหรือที่อยู่ เพื่อให้การติดต่อระหว่างสมาคมกับสมาชิกตรงกับสภาพปัจจุบันอยู่เสมอ

 

หมวด ๖
การขาดจากสมาชิกภาพ

ข้อ ๑๕. สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้.-

1.      ตาย

2.      ลาออก

3.      ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลและคณะกรรมการอำนวยการลงมติว่าเป็นการเสื่อมเสียแก่สมาคม

4.      ไม่ชำระค่าบำรุงที่กำหนดตามเงื่อนไขในระเบียบที่วางไว้ และได้รับการเตือนแล้ว

5.      ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกตามข้อเสนอของสมาชิกผู้ใดผู้หนึ่งด้วยเหตุที่เป็นการเสื่อมเสียต่อสมาคมฯ

ข้อ ๑๖. สมาชิกผู้ใดประสงค์จะลาออกจากสมาชิกภาพให้แสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขาธิการเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพิจารณา การจะพิจารณาลงมติอนุญาตให้ออกได้ ก็ต่อเมื่อผู้นั้นชำระค่าบำรุงที่ค้าง และหนี้สินอื่น ๆ ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

 

หมวด ๗
คณะกรรมการอำนวยการและการบริหารกิจการ

ข้อ ๑๗. ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกเป็นกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการอำนวยการ ดำรงตำแหน่ง นายก, อุปนายก คนที่ ๑, อุปนายก คนที่ ๒, ประธานวิชาการ, เลขาธิการ, เหรัญญิกประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนายทะเบียนและปฎิคม กับกรรมการกลาง รวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๑๐ คน และไม่เกิน ๑๕ คน

 

หมวด ๘
การเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการ

ข้อ ๑๘. ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกขึ้นเป็นคณะกรรมการอำนวยการทุก ๆ ๓ ปี ภายในสิ้นเดือนมีนาคมของปีครบวาระ และเมื่อคณะกรรมการอำนวยการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการอำนวยการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการอำนวยการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการอำนวยการชุดใหม่ ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการอำนวยการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกัน ระหว่างคณะกรรมการอำนวยการชุดเก่าและคณะกรรมการอำนวยการชุดใหม่ ให้เป็นที่เสร็จภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการอำนวยการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ ๑๙. ให้ประธานแห่งที่ประชุมตั้งอนุกรรมการ ซึ่งไม่ถูกเสนอชื่อในการเลือกตั้งจำนวน ๓ คน เป็นผู้ตรวจนับคะแนน และแจ้งผลการเลือกตั้ง 

ให้เลือกตั้งนายกสมาคมขึ้นก่อน โดยสมาชิกที่มาประชุมเสนอชื่อสมาชิกผู้สมควรจะได้รับการเลือกตั้งและเป็นผู้ที่อยู่ในที่ประชุมนั้น เป็นจำนวนพอสมควรแล้ว จึงให้สมาชิกเขียนชื่อผู้สมควรจะได้รับตำแหน่งเพียงคนเดียว สมาชิกคนหนึ่งมีสิทธิ์ที่จะลงบัตรเลือกตั้งได้เพียงครั้งเดียว ผู้ถูกเสนอชื่อได้ชื่อว่าได้รับคะแนนเสียง ๑ คะแนน เมื่อเลขาธิการเก็บบัตรและตรวจดูเป็นการถูกต้องแล้ว จึงส่งมอบให้อนุกรรมการตรวจนับคะแนน ซึ่งจะได้แจ้งคะแนนของผู้ได้รับเลือกทีละบัตรจนหมด บัตรใดมิได้เป็นไปตามที่กำหนด ถือว่าเป็นบัตรเสีย ไม่ได้คะแนน เมื่อแจ้งคะแนนจนหมดบัตรแล้ว ผู้ใดได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม ในกรณีที่ได้คะแนนเท่ากัน ให้สมาชิกลงมติด้วยการชูมือว่าสมควรจะเลือกผู้ใด ฝ่ายที่มีจำนวนมากกว่าเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่มีผู้เสนอให้มีผู้รับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ก็ให้ผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมได้โดยอัตโนมัติ

เมื่อได้นายกสมาคมแล้ว จึงให้เสนอชื่อผู้สมควรจะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการเป็นจำนวน  คน แล้วที่เหลือให้นายกเป็นผู้เลือกเอง

ข้อ ๒๐. เมื่อตำแหน่งนายกสมาคมว่างลง หรือนายกกรรมการอยู่ในภาวะที่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้อุปนายกดำรงตำแหน่งแทนหรือรักษาการแทน จนกว่าจะถึงคราวเลือกตั้งใหม่ หรือจนกว่านายกกรรมการจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมได้

ถ้าตำแหน่งอุปนายกว่างลง ก็ให้กรรมการเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งแทน จนถึงวาระที่จะเลือกตั้งประจำปีต่อไป

ถ้าจำนวนกรรมการว่างลงกว่าครึ่งของจำนวนทั้งหมดให้กรรมการที่เหลือ ๒ นาย ลงชื่อเรียกประชุมใหญ่วิสามัญหรือสามัญเพื่อการเลือกตั้งกรรมการอำนวยการเพิ่มเติมหรือ เพื่อดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุมตามข้อบังคับ

ข้อ ๒๑. กรรมการอำนวยการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังนี้.-

1.      ถึงคราวออกตามวาระ

2.      ลาออกโดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการและได้รับอนุญาตแล้ว

3.      ขาดจากสมาชิกภาพ

4.      ที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนทั้งคณะหรือรายตัวตามข้อเสนอของสมาชิก

5.      ขาดประชุมกรรมการติดต่อกัน ๓ ครั้ง โดยมิได้แจ้งเหตุผล

ข้อ ๒๒. การประชุมและองค์ประชุมของคณะกรรมการอำนวยการ ให้มีการประชุมไม่น้อยกว่าทุก ๓ เดือนโดยมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง จึงจะครบองค์ประชุม ให้นายกกรรมการเป็นประธานแห่งที่ประชุมหรือถ้านายกไม่มาก็ให้อุปนายกเป็นประธานแทน หรือถ้าไม่มาทั้ง ๓ คน ก็ให้กรรมการเลือกกรรมการด้วยกันขึ้นเป็นประธานกรรมการอย่างน้อย ๔ คน มีสิทธิ์เรียกประชุมคณะกรรมการเป็นกรณีพิเศษได้

การพิจารณาเรื่องราวที่จะลงมติให้กรรมการ มีเสียงลงคะแนนได้คนละ ๑ เสียง ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานเป็นผู้ชี้ขาด

 

หมวด ๙
อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการ

ข้อ ๒๓. คณะกรรมการอำนวยการมีอำนาจ และหน้าที่ดังต่อไปนี้.-

1.      บริหารกิจการทั้งหลาย ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

2.      ตราระเบียบขึ้นใช้โดยไม่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของสมาคม

3.      แต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาของสมาคม

4.      แต่งตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการ และเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยดำเนินการของสมาคม

5.      แต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม

ข้อ ๒๔. นายกสมาคมมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารกิจการของสมาคมให้เป็นตามระเบียบและข้อบังคับ

ข้อ ๒๕. เลขาธิการมีหน้าที่เรียกประชุมคณะกรรมการอำนวยการและที่ประชุมใหญ่โดยแจ้งระเบียบวาระประชุมไปด้วย

เป็นผู้จัดให้มีการจดรายงานการประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่ทุก ๆ คราว แล้วเสนอต่อที่ประชุมนั้น ๆ ในคราวต่อไป เมื่อที่ประชุมนั้น ๆ รับรองแล้ว จึงเสนอให้ประธานแห่งที่ประชุมลงชื่อรับรองด้วยอีกผู้หนึ่ง รายงานการประชุมที่ได้รับการรับรองแล้ว จะต้องเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานไม่น้อยกว่า 10 ปี

เป็นผู้ควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการไปตามมติแห่งที่ประชุมกรรมการและที่ประชุมใหญ่ ตามระเบียบแบบแผนและข้อบังคับของสมาคม

ข้อ ๒๖. เหรัญญิกมีหน้าที่รับผิดชอบในการเงินของสมาคม เช่น เรียกเก็บเงินค่าบำรุงจากสมาชิก, ควบคุมการรับจ่ายเงินทุกประเภท โดยมีหลักฐานให้ตรวจสอบทางบัญชีได้, จัดให้มีบัญชีการรับจ่าย, จัดทำบัญชีพัสดุของสมาคม, ทำงบทดรองจ่ายเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทุกคราว, ควบคุมการทำงบดุลประจำปีเสนอต่อที่คณะกรรมการพิจารณา เพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

ข้อ ๒๗นายทะเบียนและปฏิคมมีหน้าที่ จัดทำทะเบียนสมาชิกทุกประเภทให้มีรายการต่างๆ ของสมาชิกเป็นปัจจุบันอยู่เสมอและให้เสนอจำนวนสมาชิกประเภทต่าง ๆ ที่เข้า ออก คงเหลือต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการและที่ประชุมใหญ่ทุกคราว ดูแลรักษาสถานที่ และทรัพย์สมบัติของสมาคม ต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกที่สำนักงานทั้งเวลาปกติและในคราวประชุม

ข้อ ๒๘ประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ มีหน้าที่รวบรวมและเผยแพร่ผลงานรวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯให้ครบถ้วน สื่อสารกับกรรมการ สมาชิก และประชาชนทั่วไป ให้รับทราบข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับโรคเบาหวานที่เป็นประโยชน์ จัดและดูแลวิธีการสื่อสารให้ทันสมัยและเข้าถึงได้ง่าย

 

หมวด ๑๐
ที่ปรึกษาและอนุกรรมการแผนกต่าง ๆ

ข้อ ๒๙. ที่ปรึกษาที่คณะกรรมการอำนวยการแต่งตั้งมีหน้าที่ให้คำแนะนำในกิจการทั้งภาควิชาการ และกิจการของสมาคมและอยู่ในตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการอำนวยการที่ได้แต่งตั้ง

ข้อ ๓๐. กรรมการหรืออนุกรรมการที่คณะกรรมการอำนวยการแต่งตั้งขึ้น มีหน้าที่ดำเนินกิจการไปตามที่คณะกรรมการอำนวยการมอบหมายและให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับอายุของคณะกรรมการอำนวยการที่แต่งตั้งตน แต่ถ้าเป็นกรณีที่แต่งตั้งเพื่อกิจการใดโดยเฉพาะ เมื่อกิจการนั้นสำเร็จแล้วก็ให้สิ้นสุดไปตามกิจการนั้น

ข้อ ๓๑. ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ อาจเชิญที่ปรึกษาหารือกรรมการหรืออนุกรรมการเข้าร่วมประชุมก็ได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน

 

หมวด ๑๑
การประชุมใหญ่และการประชุมวิชาการ

ข้อ ๓๒. ให้คณะกรรมการอำนวยการเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปีปีละครั้ง ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป เพื่อคณะกรรมการแถลงกิจการที่ได้กระทำไปในรอบปีก่อน, เสนองบประมาณ, เสนอบัญชีงบดุลที่ผู้ตรวจบัญชีได้ตรวจแล้ว แต่งตั้งผู้ตรวจบัญชีประจำปีต่อไป, ปรึกษาหารือกิจการของสมาคม และเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการเมื่อถึงวาระ

ข้อ ๓๓. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องแจ้งให้สมาชิกทราบไม่น้อยกว่า ๗ วัน, โดยแจ้งให้ทราบวัน, เวลาและสถานที่ที่จะประชุม ในการแจ้งแก่สมาชิกนี้ จะออกเป็นหนังสือแจ้งไปถึงเป็นรายบุคคล

ข้อ ๓๔. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ให้นายกกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม เว้นแต่ประธานจะแจ้งแก่ที่ประชุมโดยมอบหมายให้กรรมการผู้ใดเป็นตัวแทนก็ได้ และในกรณีที่ประธานไม่ได้มาประชุมก็ให้อุปนายกเป็นประธาน หรืออุปนายกจะมอบหมายให้กรรมการผู้ใดเป็นแทนก็ได้ จะต้องมีสมาชิกมาประชุมอย่างน้อย ๓๐ คน จึงเป็นองค์ประชุม

ถ้าการเรียกประชุมครั้งแรกมีสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ให้นัดประชุมเป็นครั้งที่ ๒ อีก ภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่ประชุมครั้งแรก ในการประชุมครั้งที่ ๒ สมาชิกมาประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ถือเป็นองค์ประชุม

ข้อ ๓๕. นอกจากการประชุมใหญ่สามัญ อาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ดังต่อไปนี้.-

1.      คณะกรรมการอำนวยการเห็นสมควรให้เรียกประชุม

2.      สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๕ คน ขอร้องให้เรียกประชุม โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการก่อนกำหนดวันประชุมไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน

ทั้งสองกรณีให้เลขาธิการเป็นผู้นัดหมายเช่นเดียวกันกับการประชุมใหญ่สามัญประจำปีระเบียบวาระการประชุมให้แจ้งแก่สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และจะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า ๓๐ คน จึงเป็นองค์ประชุม หากการประชุมครั้งแรกมีสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ก็ให้ดำเนินการโดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๓๗ วรรค ๒

ข้อ ๓๖. ในการประชุมใหญ่ สมาชิกสามัญและตลอดชีพคนหนึ่ง มีคะแนนเสียง ๑ คะแนน และมติใด ๆ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๓๗. นอกจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปีและการประชุมใหญ่วิสามัญแล้ว ให้คณะกรรมการอำนวยการจัดให้มีการประชุมทางวิชาการอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ซึ่งเปิดโอกาสให้สมาชิกและบุคคลภายนอกเข้าร่วมประชุมได้ตามเงื่อนไขของสมาคม

 

หมวด ๑๒
การเงินของสมาคม

ข้อ ๓๘. เงินรายได้จากสมาชิกก็ดีจากผู้อุทิศให้แก่สมาคมก็ดีต้องนำไปฝากไว้ ณ ธนาคารที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ

ข้อ ๓๙. เหรัญญิกจะรักษาเงินไว้ใช้จ่ายในกิจการประจำบ้างก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน ๑๐,๐๐๐.๐๐ บาท เกินจากนั้นต้องนำฝากธนาคารในระยะแรกที่สุดที่พึงทำได้

ข้อ ๔๐. การถอนหรือการสั่งจ่ายเงินจากธนาคาร จะต้องมีลายมือชื่อนายกสมาคมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการร่วมกัน ๒ คนจึงจะใช้ได้

ข้อ ๔๑. นายกมีอำนาจสั่งจ่ายเงินในกิจการของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท และเดือนหนึ่ง ๆ ต้องไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท หากเกินกว่านี้ไม่ว่ากรณีใด ๆ จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอำนวยการเสียก่อน

ข้อ ๔๒. ให้คณะกรรมการอำนวยการเสนองบดุลต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อรับรองและเสนองบประมาณรับจ่ายประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีพิจารณาอนุญาต  

 

หมวด ๑๓
การแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ ๔๓. การแก้ไขข้อบังคับของสมาคม จะทำได้ต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือที่ประชุมใหญ่วิสามัญลงมติให้แก้ไขได้ ด้วยเสียงข้างมากไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกที่มาร่วมประชุม

ข้อ ๔๔. การเลิกสมาคมให้ทำได้โดยคะแนนเสียงในที่ประชุมใหญ่ถึง ๓ ใน ๔ ของสมาชิกที่มาประชุม และเมื่อลงมติเลิกสมาคมแล้วก็ให้ตั้งผู้ชำระบัญชีทรัพย์สินที่เหลือจากชำระบัญชีมีอยู่เท่าใด ให้ตกเป็นของนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน หรือองค์การกุศลใด ๆ สุดแต่ที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกครั้งสุดท้ายจะเห็นสมควร

ข้อ ๔๕. ข้อความใดที่มิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ อันว่าด้วยเรื่องสมาคมมาใช้บังคับด้วย.

ข้อบังคับเดิมตราขึ้นไว้ ณ วันที่ ๒๙ เดือน กรกฎาคม พ.๒๕๐๘

 

เกษม ศุขโรจน์
(นายเกษม ศุขโรจน์)
นายกสมาคม

แก้ไขครั้งที่ ๑ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๔๖ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๗

แก้ไขครั้งที่ ๒ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๔๘ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๙

แก้ไขครั้งที่ ๓ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๔ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๕

ชนิกา ตู้จินดา
(ศาสตราจารย์แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา)
นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ

 

 

 

f t g m

ภาคี

 

                       

   

 

ค้นหา