Copyright 2024 - สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันเบาหวานโลก

14 พฤศจิกายน 2564

การเข้าถึงการดูแลผู้ที่เป็นเบาหวาน

               เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานซึ่งเป็นปัญหาในระดับโลกอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกและประเทศไทยถึงกว่าร้อยละ 70  โดยที่มีจำนวนผู้ที่เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลการรักษายังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ หรือ IDF (International Diabetes Federation) จึงใช้โอกาสในวันเบาหวานโลก 14 พฤศจิกายนของทุกปี เชิญชวนองค์กรสมาชิกทั่วโลกจัดกิจกรรมเพื่อให้ทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนตระหนักรู้ถึงพิษภัยของโรคเบาหวาน และหนทางในการป้องกันในประชาชนและดูแลผู้ที่เบาหวานให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งในปีนี้จะเป็นการรณรงค์ต่อเนื่องไปอีก 2 ปี ในเรื่องการเข้าถึงการดูแลเบาหวานที่สำคัญ 5 ประเด็น ที่จะทำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานได้รับการดูแลรักษาที่จำเป็น ทำให้ผลการรักษาดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยล่าสุดในครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563​ โดยประวัติและการตรวจระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร ในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 9.5 (ในผู้หญิงร้อยละ 10.3 และในผู้ชายร้อยละ 8.6)  เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีความชุกร้อยละ 8.9 โดยความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย (ผู้หญิงร้อยละ 9.8 และผู้ชายร้อยละ 7.8) จากผลการวิเคราะห์พบว่ามีอัตราส่วนถึงร้อยละ 30.6 ของผู้ที่เป็นเบาหวาน ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานมาก่อน และผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์แล้วว่าเป็นเบาหวานแต่ไม่ได้รับการรักษา มีร้อยละ 13.9 ของผู้เป็นเบาหวานทั้งหมด และมีเพียงร้อยละ 26.3 ของผู้ที่เป็นเบาหวานเท่านั้นที่มีระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้  ซึ่งใกล้เคียงกับรายงานผลการวิจัยจากฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่พบว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่าน มาผลการรักษาเบาหวานในประเทศไทยบรรลุเป้าหมายเฉลี่ยร้อยละ 35  ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงปัญหาในการป้องกันโรคเบาหวานในประชากรไทย  รวมทั้งการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคเบาหวานที่มีประสิทธิภาพ

แม้ว่าจะค้นพบอินซูลินมา 100 ปี แต่ยังพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวานยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการดูแลที่ต้องการ ทั้งที่ผู้เป็นเบาหวานต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ  ที่ผ่านมาผู้ที่เป็นเบาหวานต้องเผชิญกับภาวะที่คุกคามต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการระบาดของเชื้อโควิดไปทั่วโลก พบว่าส่งผลเสียต่อผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อ ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะรอเวลาที่จะทำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานได้รับรักษาหรือเทคโนโลยีในการดูแลผู้ป่วยได้อีกต่อไป ในวาระที่ครบรอบศตวรรษในการค้นพบอินซูลินจึงควรที่จะใช้โอกาสพิเศษนี้ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเพื่อที่จะดูแลผู้ที่เป็นเบาหวานทั่วโลกที่มีจำนวนมากกว่า 460 ล้านคน ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล และผู้วางนโยบายของประเทศควรที่จะสนับสนุนระบบการดูแลผู้ที่เป็นเบาหวานและส่งเสริมการเข้าถึงระบบการดูแลอย่างจริงจัง โดยองค์ประกอบพื้นฐานของการเข้าถึงการดูแลเบาหวาน ได้แก่  

1.การเข้าถึงอินซูลิน: หลังจากการค้นพบอินซูลิน เมื่อ 100 ปี แต่ยังมีผู้ที่เป็นเบาหวานเป็นล้านคนที่ยังไม่สามารถได้รับอินซูลิน ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาและช่วยชีวิตผู้ที่เป็นเบาหวานในภาวะฉุกเฉินน้ำตาลในเลือดสูง

2.การเข้าถึงยารักษาโรคเบาหวาน: ยารักษาเบาหวานที่จำเป็นบางตัวยังไม่มีใช้ในบางประเทศ หรือยังไม่สามารถซื้อหาได้ เนื่องจากราคาสูง โดยการได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องสามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้

3.การเข้าถึงการติดตามผลการดูแลด้วยตนเอง: การตรวจเลือดเพื่อติดตามการรักษาเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงการรักษา หรือใช้ติดตามในช่วงที่มีภาวะฉุกเฉินจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ แต่มีผู้ที่เป็นเบาหวานเป็นจำนวนมากไม่สามารถซื้อหาอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ได้

4.การเข้าถึงความรู้ และการดูแลทางด้านจิตใจ: ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการรักษาผู้ที่เป็นเบาหวาน ซึ่งควรได้รับความรู้เพื่อการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการให้กำลังใจในการต่อสู้ต่อโรคเรื้อรัง แต่ยังมีผู้ป่วยหลายรายที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ รวมถึงเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่ให้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง ไม่ติดกับโฆษณาที่เกินจริงและความรู้ผิดๆ

5. การเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพและสถานที่ออกกำลังกายที่ปลอดภัย: ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือผู้ที่มีความเสี่ยงควรเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่นพืชผักที่สะอาดปลอดภัย หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง และสถานที่ออกกำลังกาย ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการดูแลและป้องกันโรคเบาหวานของทุกคน    

f t g m

ภาคี

 

                       

   

 

ค้นหา