Copyright 2024 - สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

"เบาหวานลงไต" ปฏิบัติตัวอย่างไร

 

เบาหวานส่งผลกระทบต่อทุกอวัยวะของร่างกายคนเรา ไตก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่หลีกหนีเบาหวานไม่พ้น 

        ทราบหรือไม่ว่า 1 ใน 3 ของผู้เป็นเบาหวาน มีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนของโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เบาหวานลงไต” พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่คุมเบาหวานได้ไม่ดี มีภาวะความดันโลหิตสูงต่อเนื่อง อ้วน สูบบุหรี่ มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา หรือมีญาติใกล้ชิดในครอบครัวป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง  เมื่อเบาหวานลงไต จะทวีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนที่เป็นเบาหวานแต่ไม่ลงไต และตามมาด้วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หรือระยะที่ต้องทำการฟอกไตเพื่อช่วยยืดอายุ ไม่เพียงต้องเสียเวลาในแต่ละวันในการฟอก ยังต้องจำกัดการใช้ชีวิต ทำให้อายุสั้นลง และที่สำคัญต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูง นอกจากนี้ผู้เป็นเบาหวานลงไตจะติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย ส่งผลร้ายซ้ำเติมเร่งให้ไตยิ่งทรุดตัวลงเร็ว และหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้

 

ทางการแพทย์แบ่ง “เบาหวานลงไต” เป็น 5 ระยะ แต่เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ขอแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะต้น เป็นระยะที่เริ่มมีไข่ขาว อัลบูมินรั่วในปัสสาวะแบบไมโคร (microalbuminuria หรือ 30-300 มก./วัน) ซึ่งจะตรวจไม่พบด้วยแถบตรวจโปรตีนในปัสสาวะแบบจุ่มมาตรฐาน ระยะกลาง เป็นระยะที่มีไข่ขาวรั่วระดับแมโคร (macroalbuminuria หรือ มากกว่า 300 มก./วัน) สามารถตรวจพบไข่ขาวรั่วในปัสสาวะได้จากแถบตรวจปัสสาวะแบบจุ่ม มีความดันโลหิตสูง และเริ่มมีค่าไตทรุดลง และระยะท้าย เป็นระยะไตวายต้องการการฟอก มีวิธีสังเกตว่าตนเองเริ่มเป็นเบาหวานลงไต 6 ประการ ดังนี้

         1) ตรวจปัสสาวะพบมีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะหรือตรวจพบโปรตีนจากแถบตรวจปัสสาวะแบบจุ่ม (อาจแสดงในใบรายงานผลการตรวจปัสสาวะเป็นลำดับว่า พบเล็กน้อย (trace) หรือ พบ +1, +2, เป็นต้น

         2) ปัสสาวะเป็นฟองมากผิดสังเกต

         3) พบความดันโลหิตสูง หรือคุมความดันโลหิตด้วยยายากขึ้น

         4) มีอาการบวมที่เท้าหรือที่ข้อเท้า ใบหน้า หรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากอาการบวมนั้น

         5) ต้องการยาเบาหวานหรือยาฉีดอินซูลินลดลง หรือสามารถหยุดยาได้เลย หรือมีอาการจากภาวะระดับน้ำตาลต่ำในเลือดบ่อยครั้ง จนบางรายอาจเข้าใจผิดว่าตนเองควบคุมเบาหวานได้ดี หรือหายจากโรคเบาหวานแล้ว ทั้ง ๆ ที่ควบคุมอาหารได้ไม่ดี

         6) ตรวจพบระดับของเสียในเลือด ยูเรียไนโตรเจน (urea-nitrogen) และระดับครีอะตินีน (creatinine) สูงขึ้น

        

วิธีการที่ไวที่สุดในการค้นหา “เบาหวานลงไต” ระยะแรก คือการตรวจวัดปริมาณไข่ขาวอัลบูมินในปัสสาวะโดยตรง หรือการตรวจไข่ขาวรั่วระดับไมโคร อย่างไรก็ดีมีห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลจำนวนจำกัดที่สามารถให้การตรวจด้วยวิธีนี้ได้ จึงอาจใช้วิธีที่ไวรองลงมา คือการตรวจด้วยวิธีใช้แถบตรวจไข่ขาวอัลบูมิน ซึ่งแถบตรวจปัสสาวะแบบจุ่มสำหรับตรวจหาไข่ขาวอัลบูมินนี้จะไม่ปรากฏในแถบตรวจปัสสาวะแบบจุ่มตามปกติ เนื่องจากมีราคาแพงกว่าแถบตรวจปัสสาวะมาตรฐานทั่วไป อย่างไรก็ตาม การใช้แถบตรวจปัสสาวะมีความไวที่สามารถตรวจให้ผลบวกได้เฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีปริมาณไข่ขาวอัลบูมินจำนวนมากรั่วออกไปทางปัสสาวะระดับแมโครหรือ “เบาหวานลงไต” ระยะกลางเท่านั้น ปรึกษาวิธีการตรวจไข่ขาวหรืออัลบูมินในปัสสาวะเพิ่มเติมกับแพทย์โรคไตหรือแพทย์โรคเบาหวานนะครับ

ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องชี้วัดอะไรที่สามารถทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำว่า “เมื่อไหร่ผู้เป็นเบาหวานลงไตต้องถึงคราวฟอกไต” ตัวเลขที่ยอมรับโดยทั่วไปคือ 5-10 ปี นับจากตรวจพบไข่ขาวรั่วด้วยแถบสีจุ่มปัสสาวะ แต่จะเร็วขึ้นหากควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดี ปล่อยปละละเลย ไม่ติดตามการรักษา และไม่ปฏิบัติตามหลัก 9 ประการในการป้องกัน “เบาหวานลงไต”

 

หลัก 9 ประการ ป้องกัน “เบาหวานลงไต” และชะลอให้ไตเสื่อมช้าลง

1) ควบคุมโรคเบาหวานให้ระดับน้ำตาลใกล้เคียงปกติ และให้ระดับน้ำตาลสะสม (hemoglobin A1C) ไม่เกิน 7%

        2) รู้จักพอเพียงในการรับประทานอาหารและเลือกทานอาหารอย่างถูกต้องและเหมาะสม สำคัญมาก ทานอาหารให้สมดุล เพิ่มผักและผลไม้ (ไม่หวาน) ในแต่ละมื้อ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันและโปรตีนมากเกินไป ลดของหวาน งดเครื่องดื่ม ขนม ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ น้ำอัดลม เบเกอรี่ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง ผ่านการแปรรูป ผ่านการถนอมอาหาร อาหารกระป๋อง ใส่ผงชูรส และลดเค็มครึ่งนึงนะครับ จากผลวิจัยพบว่า การทานโปรตีนอย่างเหมาะสม เช่น เนื้อปลา และจำกัดปริมาณ แต่ต้องเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ ผู้เป็นโรคเบาหวานที่มีโรคไตร่วมด้วยจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง สามารถศึกษาการรับประทานอาหารเพิ่มเติมได้ในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

https://www.youtube.com/watch?v=qwHbi9RjFsQ

3) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่อย่าออกหักโหม งดกีฬาที่เสี่ยงต่อการปะทะ เพิ่มแรงดันภายในร่างกาย เช่น เล่น weight วิดพื้น ลุก-นั่ง (sit-up) เป็นต้น      

4) ลดน้ำหนัก อย่าให้มีปัญหาน้ำหนักเกิน     

5) ควรงดบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง ดังนั้นควรเลี่ยงการสูบบุหรี่     

6) ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ผู้เป็นโรคเบาหวานมักมีความผิดปกติของเส้นประสาท ทำให้กระเพาะปัสสาวะทำงานบกพร่อง และอาจส่งผลร้ายต่อการทำงานของไตได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าสังเกตความผิดปกติ เมื่อมีอาการปัสสาวะไม่สุด ต้องเบ่ง มีการคั่งค้างหรือมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์ทันที      

7) ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงไม่เกิน 130/80 มิลลิ เมตรปรอท เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องเอาใจใส่ เพราะหากละเลยอาจทำให้หัวใจ สมอง และไตทรุดตัวลงเร็ว   

8) ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs (Non-Steroidal Anti-inflammatory Drugs) ทุกชนิด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา เพื่อลดความเสี่ยงที่ยากลุ่มนี้จะทำลายไต     

9) ควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับตรวจปัสสาวะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาปริมาณไข่ขาวอัลบูมินรั่วออกไปทางปัสสาวะ และควรเจาะเลือดวัดค่าครีอะตินีนในเลือดเพื่อคำนวณค่าการทำงานของไต ปีละ 1 ครั้ง

 

 

ข้อมูลจาก ศ.นพ.เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ

อ่านต่อ https://www.dailynews.co.th/article/760213

 

f t g m

ภาคี

 

                       

   

 

ค้นหา