Copyright 2024 - สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

ความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญและมักเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน  ในคนที่เป็นเบาหวานเมื่อไม่สบายพบว่า มีความเสี่ยงในการนอนโรงพยาบาลมากกว่าผู้ไม่เป็นเบาหวานถึง 3.1 เท่า เนื่องจากความเจ็บป่วยมีความรุนแรงร่วมกับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากโรคเบาหวานโดยตรง

ช่วงที่ไม่สบายระดับน้ำตาลอาจสูงขึ้นจนทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ ปากคอแห้ง อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย ซึม หมดสติหรือชัก ในทางตรงกันข้ามระดับน้ำตาลอาจต่ำจนทำให้มีอาการใจสั่น เหงื่อแตก หิว รู้สึกเหมือนจะเป็นลม แขนขาอ่อนแรง ซึมหรือชักได้เช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่เกิดจากระดับน้ำตาลสูงหรือต่ำเกินไป มีข้อแนะนำให้ผู้เป็นเบาหวานปฏิบัติตนดังนี้

·       พยายามรับประทานอาหารตามมื้อปกติ หากไม่สามารถกินอาหารมื้อหลักได้ ให้กินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเช่น น้ำผลไม้ ไอศครีม ขนม โยเกิร์ต หรือน้ำซุบ เป็นต้น ทุก 3-4 ชั่วโมง

·       ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 1 แก้วทุก 1 ชั่วโมง หากท้องเสียควรดื่มน้ำเกลือแร่ น้ำแกงหรือซุปใส  เพื่อป้องกันความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด นอกจากนี้ควรชั่งน้ำหนักตัวและประเมินปริมาณปัสสาวะ หากน้ำหนักตัวลดลงร่วมกับประมาณปัสสาวะมาก แสดงว่าอยู่ในภาวะขาดน้ำ ต้องดื่มน้ำหรือเกลือแร่เพิ่มขึ้น (สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจวาย น้ำท่วมปอดหรือโรคไตที่แพทย์จำกัดน้ำ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่เหมาะสม)

·       ตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วอย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง หากมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือตรวจพบน้ำตาลน้อยกว่าหรือเท่ากับ 70 มก./ดล ให้กินคาร์โบไฮเดรตเช่น ลูกอมแบบมีน้ำตาล 3 เม็ด น้ำส้มคั้น 180 มล. น้ำอัดลม 180 มล. น้ำผึ้ง 3 ช้อนชา เป็นต้น และติดตามระดับน้ำตาลปลายนิ้วที่ 15 นาที หากน้ำตาลยังคงน้อยกว่า 70 มก./ดล. ให้กินอาหารดังข้างต้นซ้ำ หากอาการดีขึ้นและน้ำตาลมากกว่า 80 มก./ดล. ให้กินอาหารตามปกติ แต่หากมีอาการน้ำตาลต่ำรุนแรงจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ให้ผู้เห็นเหตุการณ์รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ช่วงรอการนำส่งโรงพยาบาลให้นำน้ำหวานเข้มข้น หรือน้ำผึ้งป้ายที่กระพุ้งแก้มข้างที่นอนตะแคง ห้ามกรอกน้ำหวานเนื่องจากอาจสำลักได้

·       หากตรวจพบว่าน้ำตาลมากกว่า 250 มก./ดล. ให้ดื่มน้ำเปล่าบ่อยๆ แต่หากระดับน้ำตาลยังคงสูงติดต่อกันอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ควรพบแพทย์

·       ไม่ควรหยุดยาเบาหวานและยาที่ใช้ประจำ อย่างไรก็ตามมียาเบาหวานบางประเภทที่แพทย์อาจแนะนำให้หยุดหากไม่สบาย จึงควรสอบถามแพทย์ประจำตัวเพื่อขอคำแนะนำ

สิ่งสำคัญคืออย่าลืมไปพบแพทย์เพื่อรักษาต้นเหตุของความไม่สบาย และหากอาการไม่ดีขึ้นต้องไปพบแพทย์ซ้ำเพื่อปรับเปลี่ยนการรักษา

โดยสรุปแล้วผู้เป็นเบาหวานควรมีการเตรียมตัวและวางแผนก่อนการเจ็บป่วยเช่น มีการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาเบาหวาน การปรับอินซูลินเมื่อไม่สบาย การเตรียมยาสามัญประจำบ้าน ที่วัดไข้ เครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว บันทึกเบอร์โทรศัพท์ญาติ โรงพยาบาลและรถพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น ท่านสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น EMS1669 ซึ่งท่านสามารถเรียกรถพยาบาลกรณีฉุกเฉิน ตรวจสอบสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้หรืออ่านการปฏิบัติตนเบื้องต้นเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน อย่าลืมว่าผู้ที่เตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอาจผ่อนผันสถานการณ์จากหนักเป็นเบา ที่สำคัญคือ การมีสติรับมือกับทุกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

บทความจาก พญ. ทิพาพร ธาระวานิช https://www.dailynews.co.th/article/680198

f t g m

ภาคี

 

                       

   

 

ค้นหา