Copyright 2024 - Custom text here

ประวัติสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

  

  สมาคมโรคเบาหวานในต่างประเทศส่วนมากจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของแพทย์ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือองค์กรสงเคราะห์ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาล แต่ในการจัดตั้งสมาคมโรคเบาหวานของประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นจากผู้ป่วยเบาหวานร่วมกับแพทย์ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย

     ความคิดเริ่มต้นมาจากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดงาน"สัปดาห์แห่งโรคเบาหวาน" เป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 15 - 21 มีนาคม พ.ศ.2508 เลขาธิการแพทยสมาคมฯ ในขณะนั้นคือ นพ.สนอง อูนากูล ได้ให้ความเห็นแนะนำในที่ประชุมว่า “ประเทศไทยควรมีสมาคมโรคเบาหวานเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากประเทศอื่นๆ มีการจัดตั้งสมาคมกันมานานแล้ว” จนเมื่อวันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2508 คณะกรรมการแพทยสมาคมฯได้พิจารณาเรื่องนี้แล้วมีมติเห็นชอบ จึงดำเนินการยื่นจดทะเบียนที่กองสันติบาล และได้รับการจดทะเบียนจัดตั้ง“สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย”เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมพ.ศ. 2509  นายกสมาคมคนแรกคือ นายเกษม ศุขโรจน์ ได้รับการเลือกตั้งโดยสมาชิกในวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 และได้มีมติให้ถือเอา วันที่ 7 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันเกิดของสมาคม เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันแห่งประวัติศาสตร์ ที่ได้มีการริเริ่มก่อตั้งสมาคมขึ้น โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน

 

นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย  อดีตจนถึงปัจจุบัน   

  1. นายเกษม     ศุขโรจน์                             พ.ศ. 2508 – 2509

  2. ศ.นพ. สุนทร ตัณฑนันทน์                      พ.ศ. 2510 – 2511

  3. นายอรุณ      แสงสว่างวัฒนะ                 พ.ศ. 2512 – 2519

  4. ศ.นพ.สนอง  อูนากูล                              พ.ศ. 2520 – 2527

  5. ศ.เกียรติคุณ นพ. สุนทร ตัณฑนันทน์    พ.ศ. 2528 – 2548 / พ.ศ. 2549 - 2553

  6. ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา            พ.ศ. 2554

  7. ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์       พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน

 

ผลการดำเนินงานในระยะแรก

     วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในระยะแรกได้แก่ รวบรวมผู้ที่สนใจเรื่องโรคเบาหวานเข้าใจกันเป็นกลุ่มก้อน แลกเปลี่ยนความรู้และปรึกษาหารือกันในปัญหาต่าง ๆ ของโรคเบาหวานจากแพทย์และสมาชิกด้วยกัน เป็นศูนย์กลางรับจัดรวบรวมบทความที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ช่วยเหลือแนะนำและให้ความรู้หรือคำบรรยาย แก่ประชาชนในเรื่องโรคเบาหวาน รวมทั้งช่วยส่งเสริมและวิเคราะห์ วิจัย ค้นคว้าเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่อาจช่วยตัวเองได้ตามสมควร

     สมาคมฯ ได้พยายามดำเนินการตามวัตถุประสงค์โดยเผยแพร่ความรู้ทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ มีการจัดประชุมและแจกจ่ายวารสารโรคเบาหวานให้แก่สมาชิก ผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจดังจะเห็นว่า มีแพทย์ท่านหนึ่งได้ปรารภ เมื่อปีพ.ศ. 2513 ว่า พ่อตาของท่านซึ่งเป็นผู้พิพากษาและเป็นเบาหวาน มีความรู้ดีในเรื่องเบาหวานยิ่งกว่าตัวท่านเองเสียอีก เพราะได้อ่านวารสารเบาหวานเป็นประจำ ได้ฟังการบรรยายทุกครั้งทำให้ได้มีโอกาสซักถามแพทย์มากขึ้น ผู้บัญชาการเรือนจำท่านหนึ่งก็ได้บอกว่า ท่านรอดตายจากการอ่านวารสารเบาหวานแท้ๆ เพราะวันหนึ่งท่านเกิดรู้สึกหิว มือสั่น และมุมปากกระตุก โดยที่ท่านทราบว่าเป็นอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ท่านจึงรีบกินน้ำตาลทันที ทำให้รอดพ้นจากการหมดสติไปได้ และภรรยาของนายพันเอกท่านหนึ่งเล่าว่า สามีของท่านก็รอดตายจากอุบัติเหตุ โดยที่เกิดอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะขับรถ จึงรีบจอดรถข้างทางเสียทันที ก่อนที่ท่านจะหมดสติไป ฯลฯ

     นอกจากนี้สมาคมฯยังได้ร่วมกับแพทยสมาคมและสถาบันอื่นๆ อีก 8 สถาบัน ทำการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ เพราะเห็นว่า บุหรี่ก็คือยาพิษดีๆ นี่เอง ที่แฝงเข้ามาคอยทำลายสุขภาพของประชาชนโดยไม่รู้สึกตัว นอกจากบุหรี่จะเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดเป็นมะเร็งในปอดและถุงลมโป่งพองแล้ว ยังทำให้เกิดหลอดเลือดตีบและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่าย ซึ่งโรคนี้โดยปกติก็พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานอยู่แล้ว ฉะนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรสูบบุหรี่อย่างยิ่ง

สมาคมฯได้สมัครเข้าเป็นองค์การสมาชิกของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในปี 2510 และได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์เบาหวานโลก โดยสมาคมโรคเบาหวานของอินเดียและปากีสถานช่วยรับรอง ยังผลให้ได้เข้าเป็นสมาชิกอันดับที่ 36 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 สมาคมได้มีการติดต่อกับสหพันธ์ด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จาก ศ.นพ. สุนทร ตัณฑนันทน์ อุปนายกของสมาคมโรคเบาหวานได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาของสหพันธ์เบาหวานโลก ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติและเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของชนชาวไทย

     ในอดีตสมาคมฯได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นสถานพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 2512 ได้ช่วยตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ให้คำแนะนำเรื่องการควบคุมอาหารเบาหวาน และบางครั้งก็จ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยอนาถา โดยมิได้คิดเงิน แต่ในปัจจุบันด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคนจึงไม่ได้ดำเนินการเป็นสถานพยาบาลแล้ว  

     สมาคมฯได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้อยู่ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2551  เนื่องจากสมาคมฯไม่แสวงหาผลประโยชน์ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ได้ดำเนินงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมตามวัตถุประสงค์และเพื่อเป็นศิริมงคล รวมถึงเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานด้านโรคเบาหวานของคณะกรรมการ ทางสมาคมฯซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

ในปัจจุบัน

     สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ มีอายุครบ 50 ปี  ในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งในปัจจุบันสมาชิกมีทั้งหมด จำนวน 925 คน แบ่งแต่ละประเภทดังนี้

 

  1. สมาชิกกิตติมศักดิ์    53  คน

  2. สมาชิกสามัญ           3  คน 

  3. สมาชิกตลอดชีพ     869  คน   

    3.1 แพทย์                                  184  คน

    3.2 พยาบาล                               71  คน

    3.3 บุคลากรทางการแพทย์     28   คน

    3.4 หน่วยงาน                             9   แห่ง

    3.5 ประชาชน                              577  คน

 

แผนงานในอนาคต

     สมาคมโรคเบาหวานฯมีความมุ่งมั่นและยังคงคงเดินหน้าในการให้ความรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีแผนการดำเนินงานได้แก่ การจัดประชุม จัดทำวารสารเบาหวาน จัดทำสื่อความรู้เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการป้องกันโรค มีส่วนร่วมและผลักดันการวางแผนนโยบายระดับชาติ ส่งเสริมงานวิจัย และสานต่อความร่วมมือกับองค์กรณ์นานาชาติ  เพื่อลดอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวาน ส่งเสริมการรักษาโรคให้ได้มาตรฐาน และป้องกันภาวะแทรกซ้อน

 

     

เข้าใจเบาหวาน



ประเมินความเสี่ยงเบาหวาน



น้ำตาล


วันเบาหวานโลก


สถิติ


บริจาค


วารสารเบาหวาน


วงล้อดัชนีน้ำตาล


เครือข่ายชมรมเบาหวาน

 

 เครือข่ายบริบาลและการลงทะเบียนเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานวินิจฉัยก่อนอายุ 30 ปี

Thai-Type 1 Diabetes and Diabetes diagnosed Age before 30 years Registry, Care and Network (T1DDAR CN) เครือข่าย T1DDAR CN

คู่มือ


สื่อการสอน T1DDAR CN และ
DSME module


สมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่าย 
T1DDAR CN

รู้จักเรา "T1DDAR CN"


ประมวลภาพกิจกรรม


หนังสือ


 

เอกสารโครงการ T1DDAR CN 


T1DDAR CN DASH BOARD


ช่องทางติดต่อเครือข่าย T1DDAR CN

โครงการ For Your Sweetheart ประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ทุกคนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของโรคเบาหวาน และโรคหัวใจโดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และครอบครัวทราบถึงความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด พร้อมทั้งให้ความรู้กับบุคคลใกล้ชิด เพื่อที่จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกวิธีรวมไปถึงการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้

 

 



 


 
 
 
 
 

                       

   

 

1480873
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
2916
6376
43043
41127
173588
1148416
1480873

Your IP: 172.71.254.7
2024-04-27 09:39